สวัสดีครับ ผมคือ "หมาช่วยเหลือ"
สุนัขนำทางของผู้พิการทางสายตาแบบน้องลูเต้อร์ คือหนึ่งในประเภทของ "สุนัขช่วยเหลือ" ซึ่งหมายถึงสุนัขที่ให้การช่วยเหลือผู้พิการทั้งทางตา หู หรือทางร่างกาย สุนัขเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษภายใต้กฏหมาย ได้รับสิทธิในการเข้าถึงยังพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ หรือกระทั่งบนเครื่องบิน
สุนัขช่วยเหลือประเภทต่างๆ
สุนัขช่วยเหลือไม่นับเป็น "สัตว์เลี้ยง" ทั่วไป แต่เป็นสุนัขที่ผ่านการฝึกอบรมขั้นสูง สุนัขช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อกั๊ก บังเหียนพิเศษ ติดป้ายพิเศษ สวมปลอกคอใดๆ
- สุนัขนำทาง ช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา (Guide Dog)
คอยนำทาง พาขึ้นรถ ลงเรือ ข้ามถนน นำทางรถเข็นเวลาซื้อของ ป้องกันอันตรายจากการเดินทาง - สุนัขช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน (Hearing Dogs)
คอยเตือนให้เจ้าของรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เช่น เสียงออด เสียงเตือนไฟไหม้ นาฬิกาปลุก เสียงคนเรียกชื่อเจ้าของ เสียงทารกร้องไห้ ซึ่งสุนัขเหล่านี้มีความสามารถพิเศษในการแยกแยะเสียงเตือน เสียงเรียก ต่างๆ จากเสียงรบกวนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องสนใจ - สุนัขช่วยเหลือผู้พิการทางร่างกาย ขา หรือแขน (Service Dogs)
ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก หยิบสิ่งของ เปิดตู้เย็น เปิด ปิดประตู นำทางรถเข็น เปิดปิดไฟ เปิดลิ้นชัก คอยช่วยขาที่ 3 ให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัว รวมถึงสุนัขที่คอยดูแลผู้ป่วยทั้งทางกายและใจสำหรับเด็กออทิสติกหรือผู้ป่วยในโรงพยาบาล
สายพันธุ์ที่มักถูกฝึกให้เป็นสุนัขนำทาง
- เยอรมัน เชฟเฟิร์ด
สุนัขขนาดใหญ่ที่ฉลาด กล้าหาญ ฝึกง่าย มีความกระตือรือร้น และชอบทำกิจกรรม มีสัญชาติญาณของการอารักขา น้องเยอรมัน เชฟเฟิร์ดนี้ เป็นสายพันธุ์ที่อเมริกันเลือกใช้สำหรับกองทัพในสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นสุนัขนำทางตัวแรกของโลก นอกจากสุนัขนำทางแล้ว น้องยังได้รับการฝึกให้เป็นสุนัขตำรวจ สุนัขทหาร สุนัขค้นหาและกู้ภัยด้วย - ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์
เป็นเพื่อนคู่หูของครอบครัวที่ยอดเยี่ยม ขยัน ชอบออกกำลังกาย ชอบเก็บของ มีร่างกายกำยำ มีขาที่แข็งแรงมั่นคง พลังงานเต็มเปี่ยม เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำงานโดยเฉพาะ ในอดีตน้องลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ถูกฝึกให้ทำงานล่าเป็ดให้กับนายพรานในทุกสภาพอากาศ ปัจจุบันน้องทั้งเป็นสุนัขนำทาง สุนัขดมกลิ่นในกองทัพ ศุลกากร ค้นหา และทำงานด้านกู้อัคคีภัย - โกลเด้น รีทรีฟเวอร์
ในอดีตได้รับการปรับปรุงคุณลักษณะสายพันธุ์เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงช่วยเหลืองานนายพรานเป็นสุนัขขนาดกลาง คล่องแคล่ว มีประสาทสัมผัสที่ดีเยี่ยมทั้งเรื่องการฟังเสียง การดมกลิ่นสะกดรอย รวมถึงสายตาที่แม่นยำ น้องถูกใช้ในวงการทหารและตำรวจ ในการตรวจค้นยาเสพติด สะกดรอยคนร้าย รวมถึงเป็นยามรักษาความปลอดภัย - บอร์เดอร์ คอลลี่
หรือสุนัขต้อนฝูงแกะ (Sheep Herder) ฉลาด มีไหวพริบ เรียนรู้เร็ว ชอบทำกิจกรรม ชอบวิ่ง มีปฏิกิริยาตอบสนองคำชม เป็นสุนัขเฝ้ายามที่ยอดเยี่ยม ปกป้องครอบครัวและถิ่นของตนได้ดี น้องบอร์เดอร์ คอลลี่ ถูกใช้งานเป็นสุนัขตำรวจเช่นกัน ในการตรวจสารเสพติด หาวัตถุระเบิด และกู้ภัย
เป็นสุนัขนำทาง ไม่ง่ายนะฮับ
ด้วยหน้าที่สำคัญ และการได้รับสิทธิพิเศษให้เข้าถึงยังทุกสถานที่ น้องหมาเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านการเลี้ยงดู ฝึกฝน และทดสอบอย่างหนัก และเจ้าของสุนัขก็จำเป็นต้องดูแลสุนัขเป็นอย่างดี เรื่องอาหารการกิน การตรวจสุขภาพ และการรักษาความสะอาด
- มีประวัติไม่เคยกัดคนมาก่อนใน 3 รุ่นบรรพบุรุษของน้อง
- ผ่าตัดทำหมันตั้งแต่อายุ 6 เดือน
- ผ่านการฝึกเข้มงวดอย่างน้อย 2 ปี รวมถึงฝึกอดอาหาร ฝึกทักษะสังคม และความสามารถในการเข้ากับเจ้าของคนใหม่
- กว่าจะฝึกสุนัขนำทางที่มีมาตรฐานออกมา หน่วยงานที่ฝึกสุนัขต้องใช้งบประมาณราว 1.6 ล้านบาทในการเลี้ยงดูและฝึก
- หน่วยงานฝึกสุนัขนำทางต้องสัมภาษณ์ ตรวจสอบสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ และทักษะของเจ้าของ ก่อนจะจัดหาสุนัขให้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรเพื่อสังคมที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
- จำชื่อเจ้าของได้ เข้าใจทั้งคำสั่งเสียงและคำสั่งภาษามือ และอยู่ภายใต้คำสั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ไม่ตกใจหรือหวั่นกลัวบนท้องถนนหรือในสถานการณ์ต่างๆ และนิ่ง สงบ แม้ใครจะเข้ามาหยอกหรือเล่นด้วย ไม่ข่มขู่ผู้คน ไม่ถูกหันเหความสนใจจากสิ่งเร้ารอบกาย ยืนหรือนั่งนิ่งๆ ได้เป็นเวลานาน
- แยกเสียงเตือนภัยออกจากเสียงรบกวนทั่วๆ ไปได้
- อยู่ในรถหรือขนส่งสาธารณะได้อย่างสงบ ฟังคำสั่งเจ้าของอย่างเคร่งครัด ไม่นำเจ้าของ รู้ว่าต้องหยุดตอนไหน
- สามารถอยู่ในที่สาธารณะได้โดยไม่มีสายจูง
- อดทนต่อกลิ่นอาหาร นั่งหรือนอนเงียบๆ ใต้โต๊ะอาหาร ไม่ร้องขออาหาร
- สุนัขนำทางมีอายุขัยการทำงานเพียง 10 ปีเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นร่างกายจะไม่เหมาะสมในการทำงานอีกต่อไป
สิทธิมนุษยชน อิสระ และเสรีภาพ
พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (8) ระบุว่าคนพิการมีสิทธิที่จะนำ "สัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใดๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใดๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทาง" แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองในแง่ปฏิบัติ
ส่วนในข้อที่ 9 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ CRPD ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ลงนามด้วย กล่าวถึงความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) ให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้โดยอิสระ และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกด้านของการดำเนินชีวิต ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่กลับไม่ครอบคลุมเรื่องการใช้สุนัขนำทาง มีผลให้มีความนิยมใช้สุนัขนำทางน้อย ข้อมูลปี 2561ระบุว่าในประเทศจีนมีผู้พิการทางสายตาราว 1.7 ล้านคน แต่มีสุนัขนำทางเพียง 200 ตัวเท่านั้น
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกสุนัขนำทางหลายแห่ง แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลง ร้านอาหาร โรงแรม และขนส่งต่างๆ ก็ยังมีข้อจำกัด และห้ามไม่ให้สุนัขนำทางเข้า แม้ว่าจะมีกฎหมายอนุญาตให้สุนัขนำทางเข้าถึงทุกสถานที่ก็ตาม
จากการต่อสู้กรณี "น้องทรายกับลูเต้อร์" ทำให้ปัจจุบันสุนัขนำทางสามารถจะขึ้นรถ BTS ได้ เข้าห้างสรรพสินค้าบางแห่งได้ และอีกหลายหน่วยงานกำลังตื่นตัวที่จะตอบรับในการคุ้มครองผู้พิการในข้อนี้ นับเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความเท่าเทียมในสิทธิและเสรีภาพมนุษยชน